การติดตั้ง pressure gauge ที่ถูกต้อง
- พิจารณาหน่วยแรงดัน,ปริมาณแรงดันของจุดที่ต้องการวัด
- เลือกหน่วยวัดเกจ,ย่านการวัดให้เหมาะสมกับจุดที่ต้องการวัด
- เลือกตำแหน่งติดตั้งที่เหมาะสม จุดติดตั้งไม่ควรมีความ ลาดเอียง
- ติดตั้งตามชนิดของเกจ และควรใช้ปะเก็นเพื่อให้รอยต่อแนบสนิท
- ทดสอบการทำงานของเกจ ว่าสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ หลังจากติดตั้ง
- ระยะดูแลรักษา ควรตรวจเช็คทุก 6 หรือ 12 เดือน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
Pressure gauge คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้เราอ่านแรงดันในระบบได้ง่ายขึ้นช่วยให้เราสามารถควบคุมแรงดันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องศึกษาวิธีการเลือกใช้และการติดตั้ง pressure gauge ที่ถูกต้อง รวมไปถึงการดูแลรักษาด้วย เพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนในเวลาที่ต้องการอ่านค่าความดันนั่นเอง
ขั้นตอนการติดตั้ง Pressure gauge ที่ถูกต้อง
-
พิจารณาหน่วยแรงดัน,ปริมาณแรงดันของจุดที่ต้องการวัด
ก่อนอื่นต้องทำการพิจารณาจุดที่ต้องการวัดแรงดันก่อน โดยมีสิ่งทำต้องคำนึงถึงหลักๆอยู่ 2 อย่างคือ (1)หน่วยในการวัด ว่าในระบบตรงนั้นควรที่จะเลือกใช้หน่วยอะไร เพื่อความสะดวกสบายในการอ่านค่า เช่น ถ้าจุดอื่นๆในระบบมีการวัดค่าเป็นหน่วย bar ตรงจุดที่จะติดตั้งก็ควรเป็นหน่วย bar เพื่อให้สอดคล้องกัน (2)ปริมาณแรงดัน ว่าตรงนั้น มี Working pressure อยู่ที่เท่าไหร่ และ Max pressure อยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งทั้งสองสิ่งที่พิจารณานี้ จะช่วยให้เราเลือกเกจวัดแรงดันได้ง่ายขึ้นในขั้นตอนต่อไป
-
เลือกหน่วยวัด,ย่านการวัดให้เหมาะสมกับจุดที่ต้องการวัด
ต่อเนื่องจากขั้นตอนแรก หลังจากเราพิจารณาเรื่องหน่วยและย่านการวัดของจุดติดตั้งไปแล้ว เราก็สามารถทำการเลือกเกจที่เหมาะสมได้ โดยการเลือกย่านการวัดมีหลักเกณฑ์คือ Working pressure ในสภาวะปกติควรอยู่ที่ 50-60% ของ max pressure ในหน้าปัดเกจ ส่วนหน่วยให้เลือกที่สอดคล้องกับจุดติดตั้ง หรือหากไม่มีให้เลือกหน่วยที่ใกล้เคียงกัน โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก บทความ หน่วยวัดแรงดัน
-
การเลือกตำแหน่งติดตั้งเกจที่เหมาะสม จุดติดตั้งไม่ควรมีความ ลาดเอียง
หลักเกณฑ์การเลือกตำแหน่งติดตั้งคือ คือคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ผู้ใช้งานต้องสามารถเข้าถึงเกจเพื่ออ่านค่าได้ง่าย อยู่ในระดับสายตาที่สามารถอ่านได้ หน้าปัดหันไปในทิศทางเดียวกัน และสิ่งที่สำคัญคือในจุดที่ติดตั้ง ห้ามเป็นช่วงที่ลาดเอียง โค้งงอ หรือช่วงที่มีการสั่นมากๆ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนและความชื้นมากๆ หากเป็นระบบแรงดันน้ำไม่ควรติดตั้งบริเวณหน้าบนท่อ ควรต่อไปป์ออกมาด้านข้างและตั้งเกจขึ้นตรง
-
ติดตั้งตามชนิดของเกจ และควรใช้ปะเก็นเพื่อให้รอยต่อแนบสนิท
การติดตั้งจะพิจารณาตามความเหมาะสมของเกจ ว่าควรใช้แบบหน้าแปลนหรือแบบเกลียว เป็นแบบติดตั้งด้านหน้าหรือแนวตั้งตรง หากเป็นแบบเกลียว ต้องเป็นเกลียวชนิดเดียวกัน(BSPT,NPT)ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ทั้งนี้ทั้งนั้นการติดตั้งควรใช้ปะเก็นยางร่วมด้วยเพื่อให้รอยต่อแนบสนิทไม่มีการ leak ของแรงดันในระบบ เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนในการวัด หรืออาจเป็นประเก็นวัสดุอื่นที่มีความเหมาะสมกับหน้างานมากกว่า
-
ทดสอบการทำงานของเกจ ว่าสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ หลังจากติดตั้ง
หลังจากติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการทดสอบแรงดันดูว่าเกจสามารถอ่านค่าแรงดันได้ถูกต้องหรือไม่ มีการ leak ของระบบหรือไม่
-
ระยะดูแลรักษา ควรตรวจเช็คทุก 6 หรือ 12 เดือน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
เครื่องมือทุกอย่างย่อมมีวันเสื่อมสภาพ Pressure gauge เองก็เช่นกัน ดังนั้นเราควรทำการตรวจเช็คสภาพของตัวเกจ ทุก 6หรือ12เดือน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน หากมีการสั่นสะเทือนมากควรตรวจเช็คให้ถี่ขึ้น โดยรายการที่ต้องทำการตรวจเช็ค ได้แก่ ประสิทธิภาพในการวัดแรงดัน ว่ายังคงสามารถวัดแรงดันได้อย่างเที่ยงตรงอยู่หรือไม่ และตรวจเช็คสภาพน้ำมันกลีเซอรีน หากเริ่มขุ่น เปลี่ยนสี หรือเสื่อมสภาพ ควรทำการเปลี่ยน หรือเปลี่ยนเป็นประจำตามรอบไปเลยก็ได้ โดยวิธีการเปลี่ยนขึ้นอยู่กับเกจแต่ละยี่ห้อ หากเป็น Pressure gauge Nuova Fima จะมีจุกยางอยู่ด้านบนของตัวเกจไว้สำหรับถ่ายน้ำมัน
ข้อควรระวังในการติดตั้ง Pressure gauge
ส่วนมากจะเป็นข้อควรระวังในเรื่องการตำแหน่งการติดตั้ง เช่น ห้ามติดตั้งบริเวณที่มีการสั่นสะเทือน โค้งงอ ลาดเอียง หรือมีความร้อนและความชื้นสูงมากๆ และไม่ควรนำเกจไปวัดในบริเวณที่มีแรงดันสูงเกินกว่าสเกลของเกจเพราะจะทำให้เกจตัวนั้นเสียหายทันที และที่สำคัญห้ามทำเกจตกหรือหล่นเด็ดขาดเนื่องจากหน้าปัดของเกจผลิตมาจากกระจก หากทำหล่นจะทำให้แตกเสียหายได้ง่าย และที่สำคัญอย่าลืมตรวจเช็คเป็นประจำ
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
ในการจะเลือกใช้ Pressure gauge ยี่ห้อดีๆซักตัวนึง ควรพิจารณาจากวัสดุที่ใช้ผลิตเกจแต่ละส่วนร่วมด้วย ตัวเรือนควรเลือกใช้เป็นสแตนเลสเพื่ออายุการใช้งานที่นานขึ้นและความเหมาะสมกับสภาพการทำงานที่มากกว่า ตัวเข็มควรเป็นโลหะ ตัวเกลียวแล้วแต่ความเหมาะสมของหน้างานแต่ควรเป็นวัสดุทองเหลืองขึ้นไป และที่สำคัญควรมีช่องสำหรับถ่ายหรือเติมน้ำมันกลีเซอรีนไว้สำหรับเซอร์วิสน้ำมันในเวลาที่น้ำมันเสื่อมสภาพจะได้ไม่ต้องเสียเงินในการเปลี่ยนเกจใหม่
Pingback: ป้องกันการกัดกร่อนใน Pressure Gauge